Last updated: 16 ต.ค. 2563 | 1876 จำนวนผู้เข้าชม |
“เวลาไม่ช่วยอะไร แต่ใจมันยังฝังจำ”
#สี่ห้าเรื่องที่เจ้าของธุรกิจควรจำฝังใจแม้ว่าสถานการณ์จะวิกฤติหรือไม่ก็ตาม
ใครหลายคนอยากให้มีเรื่องดี ๆ ในปีใหม่ ไม่ถึง #1 เดือน ก็กลับทำให้หลายคนต้องผิดหวัง
เพราะ โควิด #19 กลับกลายเป็นของขวัญวันปวดใจ
#8 เดือนที่ผ่านมา ในทุกเวลามันผ่านไปอย่างยากเย็น เหมือนฝันร้าย มันกระทบไปทั้งหมด
ตั้งแต่ เจ้าของ ลูกจ้าง ยันลูกค้า หลายอย่างล้มหาย หยุดชะงัก ประคับประคอง
ปัญหาที่ถาโถม เงิน คน เจ้าหนี้ เงินกู้ รายจ่ายต่าง ๆ นำไปสู่ความกดดัน อารมณ์ ความเจ็บปวด
และการปรับตัว โดยเฉพาะเจ้าของกิจการที่ต้องตัดสินใจในหลายเรื่อง เพื่อ “ความอยู่รอด”
ของบริษัทหรือธุรกิจที่กำลังดำเนินอยู่
ในฐานะที่ปรึกษาทางธุรกิจ ผมและทีมงานก็เจอปัญหาไม่ต่างกับหลาย ๆ บริษัท
ที่ต้องจัดการแก้ไข ซึ่งไม่ใช่แค่ในเรื่องของบริษัทตัวเองเท่านั้น แต่ในมุมการเข้าไปช่วยแก้ปัญหา
ให้กับเจ้าของบริษัท
สิ่งที่ยังทำให้เรายังอยู่รอด และก้าวต่อไปได้อย่างแข็งแรง เพราะ หัวใจสำคัญ ที่เรียกว่า “ตัวเลข”
เนื่องจากตัวเลขไม่โกหกเรา และตัวเลขนำไปสู่การวิเคราะห์บนพื้นฐานของเหตุผลและความเป็นจริง
นั่นจึงเป็นสิ่งที่เราเชื่อ และพยายามสร้างความเชื่อนี้แก่ผู้บริหาร เจ้าของธุรกิจหลายคน ในช่วงที่ผ่านมา
#1 “เงิน”
เงินที่คุณเห็นในงบการเงินอาจไม่ใช่อย่างที่คุณคิด
หลายที่ยังคงคิดว่าเรามีเงินเหลือใช้อยู่ เพียงแค่ดูยอดในบัญชีคงเหลือ แต่ยังคงลืมไปว่า
ยังมีภาระผูกพันต่าง ๆ มากมาย ที่เรายังต้องรับผิดชอบมันคือ “หนี้สิน” นั่นเอง
ไม่ว่าจะเป็นเงินรับล่วงหน้าจากลูกค้า เจ้าหนี้สรรพากร เจ้าหนี้เช่าซื้อ ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย เงินกู้
พอเราไปช่วยดึงตัวเลขเหล่านี้ กระทบกับยอดเงินที่คงเหลืออยู่ เรียกว่า
“อึ้ง” ไปพร้อมกันเมื่อเห็น มันไม่ใช่แค่ทฤษฎีที่เราต้องมีเงินสำรองเท่านั้น เท่านี้ อย่างที่คนพูดกัน
แต่มันเป็นความจริงที่เกิดขึ้น จาก Blind Spot ของเจ้าของ ที่อาจไปเน้นเรื่องการขายและการเติบโตเป็นหลัก
จนพลาดไปว่ากระแสเงินสดที่ยังคงหมุนอยู่ในบริษัทเพียงพอหรือไม่
“เงิน” ยังคงเป็นสิ่งที่ต้องการที่สุดสำหรับธุรกิจ และจัดการยากที่สุดในเวลาเดียวกัน
ส่งผลต่อ #การตัดสินใจ ในช่วงวิกฤตของธุรกิจอย่างมากว่าจะ หยุดหรือไปต่อ
การปรับโครงสร้างองค์กร การประนอมหนี้ การพักชำระหนี้ การระดมทุนและหาแหล่งเงินกู้ จึงเป็นสิ่งที่ตามมา
#2 “คน”
เกือบทุกบริษัทค่าใช้จ่ายที่สูงที่สุดคือ “ค่าใช้จ่ายพนักงาน”
ผมลองแยกค่าใช้จ่ายนี้ ออกเป็นแผนก ออกเป็นตำแหน่ง ออกเป็นลักษณะงานที่ผลต่อรายได้ ออกเป็นความสำคัญ
ภาพดังกล่าวยิ่งชัดขึ้น
#การตัดสินใจ ว่าพนักงานควรยังอยู่กับเราหรือไม่?
คงต้องย้อนกลับไปถามว่าตอนที่รับเขามามีกระบวนการตัดสินใจอย่างไรก่อน ปัญหาไม่ได้เกิดเพียงตอนที่จะมีปัญหา
แต่ปัญหานั้นมาจากจุดเริ่มต้น ส่งผลให้การแก้ปัญหาในภายหลังที่เกิดขึ้นอาจจะยากมากกว่า
แม้ว่าภาครัฐจะเข้ามาช่วยในการการแก้ไขในช่วงวิกฤต และแต่ละบริษัทของจัดการปัญหาในหลายรูปแบบ
แต่ผมว่าไม่มีวิธีไหนที่ดีที่สุด เพราะคุณอาจจะทำให้สภาวะทางการเงินคุณดี แต่สภาวะทางใจคุณอาจจะเจ็บปวด หรืออาจกลับกัน
ส่วนตัวผมการแก้ปัญหาจริง ๆ แล้วไม่ได้อยู่ที่จำนวนเงิน แต่อยู่ที่ “วัฒนธรรมองค์กรที่ถูกสร้างมาในอดีต”
ซึ่งตัวนี้ จะเป็นตัววัดว่า จำนวนเงินที่คุณต้องจัดการมีมากน้อยขนาดไหน
และจำนวนความรู้สึกที่คุณต้องจัดการมีมากน้อยเพียงใด
มีที่นึง ที่ผมจัดการแล้วคิดว่าจำนวนเงินและจำนวนความรู้สึกกระทบที่น้อยที่สุด แต่ทรงพลังที่สุด
#3 “ค่าใช้จ่าย”
ลองกลับไปดูค่าใช้จ่ายหลัก #10 ลำดับแรกของบริษัทคุณดู คุณอาจจะต้องตั้งคำถามใหม่ว่า
“เราจำเป็นกับสิ่งนี้ใช่หรือไม่?” มากกว่าที่จะตอบว่า เรามาประหยัดค่าใช้จ่ายกัน
การวิเคราะห์ในเชิง #ตัวลข พบเจอในหลายๆ ค่าใช้จ่าย ที่เราได้สูญเสียออกไป แล้วไม่ได้รับ
ประโยชน์กลับมาต่อองค์กร ค่าใช้จ่ายพวกนี้ จะถูกแฝงในจำนวนที่ไม่สูง แต่มีการจ่ายอย่างเสมอ
เราชอบแซวเสมอว่าค่าใช้จ่ายในการจัดพิมพ์เอกสาร หรือค่าสำเนาเอกสาร (Printing และ Copying)
เป็นค่าใช้จ่ายที่น่ากลัวที่สุด ซึ่งก็เป็นจริงในแต่ละองค์กร ที่เราได้ลืมมันไป
อีกตัวนึงก็คือ “ค่ารับรอง” ที่ผันออกมาในลักษณะค่าใช้จ่ายส่วนตัวของกรรมการ
ที่ยังไม่ได้เคยแยกระหว่างความเป็นส่วนตัว และความเป็นส่วนบริษัท
#4 “โครงสร้างรายได้”
โมเดลทางธุรกิจ และประเภทธุรกิจ จะส่งผลต่อการรับรู้รายได้ทางบัญชีของบริษัท
ถูกต้องที่ทุกคนจะหันไปหาการสร้างโมเดลทางธุรกิจ และช่องทางการหารายได้
แต่อย่าลืมว่ารายได้ที่หามาได้นั้น ได้พิจารณาเรื่อง “เงิน” ที่เราจะได้รับมาด้วยหรือไม่
บางธุรกิจได้รับเงินล่วงหน้ามาก่อน แต่การรับรู้รายได้ทางบัญชีจะยังไม่เกิด เช่น การขาย Voucher ล่วงหน้า การให้เติมเงิน
บางธุรกิจได้รับเงินหลังจาก การรับรู้รายได้ทางบัญชี เช่น การให้เครดิตในการรับชำระเงิน #30 วัน หรือ มากกว่านั้น
บางธุรกิจได้รับเงินทันที พร้อมกับการรับรู้รายได้ เช่น การขายสินค้าหรือบริการที่เป็นเงินสดเลย
ดังนั้น รายได้ มีผลต่อกระแสเงินสดของกิจการเช่นกัน ไม่ใช่ว่าเราได้รายได้เยอะ แล้วเราจะไม่เจ๊ง
ในทางกลับกัน เราเองก็ต้องไปบริหารเรื่องต้นทุน และค่าใช้จ่าย ซึ่งบางอย่างเราจะต้องนำเงินไปจ่ายก่อนที่จะได้รายได้ด้วยซ้ำ
ปีนี้บอกได้เลย ว่าส่วนใหญ่ รายได้ของเกือบธุรกิจมียอดลดลงแน่ ๆ วิจัยต่าง ๆ ก็มีบอก
เกินครึ่งของธุรกิจที่พบเกินครึ่ง เจอว่ายอดรายได้ จะลดลงกว่า #10 - #25%
แม้ว่ารูปแบบการขาย และช่องทางการขายถูกเปลี่ยนไป
ผมเห็นทุกที่เหนื่อยมากที่จะกลับมาแก้ไขเรื่อง Business Model
แล้วหาทางหารายได้อื่นที่เราไม่เคยทำมาก่อน เพื่อแลกกับเงินที่จะเข้ามาในบริษัทได้อย่างเร็วที่สุด
จนบางครั้งลืมไปว่า “ต้นทุน” ที่เสียไป หรือ ค่าโอกาสที่เสียไป อาจไม่คุ้ม
กับสิ่งที่เราตั้งใจทำ (ถ้าทำเช่นนั้นได้ ทำไมเราไม่ทำรายได้นั้นตั้งแต่ต้น)
#การตัดสินใจ
#5 “การสื่อสาร”
ต้องยอมรับว่า “ผู้นำ” จะเหนื่อยในอีกรูปแบบนึง และยังคงจะเหนื่อยไปอีกสักพัก (จริง ๆ ก็เหนื่อยอยู่ตลอด)
การสื่อสารในภายในองค์กรเป็นปัจจัยนึงที่ส่งผลต่อ #ตัวเลขทางการเงิน และ #ความรู้สึก ในสถานการณ์วิกฤตนี้
ต้นทุนอาจสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายไม่ลด ลูกหนี้ทวงหนี้ เจ้าหนี้ตามหนี้ พนักงานเรียกร้อง ล้วนแล้วมาจากการสื่อสารทั้งนั้น
การสื่อสารที่ดีไม่ใช่เพียงรูปแบบของการสื่อสาร หรือเนื้อหาของการสื่อสาร
แต่การสร้างความเข้าใจ หรือเห็นเป้าประสงค์เดียวกันของทั้งผู้ส่งสารและผู้รับสารเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
ช่วงเวลานี้ จะแสดงให้เห็นถึงความจริง ความมีน้ำใจ ความปลอม ความเห็นแก่ตัว รวมถึงบทเรียนดีดี ที่จะนำให้ผู้นำ
ได้นำไปใช้ ไปจัดการ และวางแผนเพื่อทำให้ธุรกิจเกิดความยั่งยืนต่อไป
นี่จึงเป็นเครื่องพิสูจน์
#ตัวเลข มีส่วนสำคัญมากใน #การตัดสินใจ ทางธุรกิจและช่วยสร้าง #การตัดสินใจ ทางอารมณ์
ที่มีเหตุและผลมากขึ้น และเป็นสิ่งที่เจ้าของควรให้ความสำคัญกับ #ตัวเลข มากยิ่งขึ้น
เพื่อสุขภาพทางการเงินของบริษัทอยู่รอด และดีขึ้น
ตลอดจนธุรกิจยังคงดำเนินได้อย่างมั่นคง และยั่งยืนได้
เมื่อสุขภาพทางการเงินดี สุขภาพจิตใจก็ดี ธุรกิจก็ดี เจ้าของ พนักงานก็มีกำลังจะทำให้ดีขึ้นอีก
มาเริ่มสร้างสุขภาพทางการเงินที่ดีจาก #ตัวเลข ด้วยกันครับ
Turn your insights into wealth and health.
“จริง ๆ แล้วเวลามันช่วยอะไรเรา และยังให้เราได้จำบทเรียนที่สำคัญ”
19 พ.ค. 2564
18 ก.ค. 2564
13 มิ.ย. 2564